วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทที่ 4 ระบบอวัยวะภายใน

บทที่ 4

ระบบอวัยวะภายใน


1.ระบบย่อยอาหาร
ระบบย่อยอาหาร ประกอบด้วยอวัยวะ ซึ่งเป็นท่อกล้ามเนื้อยาว จากปากไปถึงทวารหนัก ทำหน้าที่ในการกลืนอาหาร บดอาหาร ย่อยอาหาร ดูดซึมอาหารและขับกากอาหาร ที่เป็นของแข็งออกจากร่างกาย อวัยวะของระบบนี้แบ่งออกได้เป็น
1. ท่อทางเดินอาหาร(Alimentary canal ) ได้แก่ ปาก ลำคอ( Pharynx) หลอดอาหาร(Esophagus) กระเพาะอาหาร(Stomach) ลำไส้เล็ก(Small intestine) ลำไส้ใหญ่(Large intestine)และทวารหนัก(Anus)
2. อวัยวะช่วยย่อยอาหาร ได้แก่ ฟัน ลิ้น ต่อมน้ำลาย ตับ ตับอ่อน
อวัยวะระบบย่อยอาหาร
ปาก มีหน้าที่รับหรือกินอาหาร บด เคี้ยวอาหาร ผสมอาหารให้เข้ากับน้ำลาย และทำให้เกิดเป็นก้อน เป็นคำ ผ่านเข้าหลอดคอ และหลอดอาหาร ต่อไป
หลอดคอ (Pharynx) มีลักษณะคล้ายกรวย ส่วนหน้าใหญ่อยู่ต่อจากช่องปากและจมูก ส่วนหลังเล็กและต่อไปเป้นหลอดอาหาร หลอดคอนี้ถูกล้อมรอบด้วยกล้ามเนื้อหลาบมัด หลอดคอเป็นทางร่วมของช่องปากและจมูก และEustachian tube จากหูส่วนกลาง
สำหรับ Eustachian tube นี้ เป็นท่อที่ให้อากาศจากหลอดคอผ่านเข้าหูส่วนกลาง และปรับให้ความดันที่เยื่อหูทั้ง 2 ด้านเท่ากัน
หลอดอาหาร (Esophagus) เป็นท่ออยู่ต่อจากหลอดคอ ไปจนถึงทางเปิดเข้าสู่กระเพาะอาหาร ซึ่งอยู่ส่วนท้ายของกระบังลม ชั้นกล้ามเนื้อของท่อทางเดินอาหารตอนนี้ เป็นกล้ามเนื้อลาย จนถึงฐานของหัวใจ กล้ามเนื้อจึงจะเปลี่ยนเป็นกล้ามเนื้อเรียบ หลอดอาหารของสุนัขและสัตว์เคี้ยวเอื้อง ชั้นกล้ามเนื้อเป็นกล้ามเนื้อลายตลอด ส่วนของสัตว์ปีก จะพองออกเป็นเปาะ เรียกว่ากึ๋น ( Gizzard)
กระเพาะอาหาร(Stomach) เป็นส่วนของท่อทางเดินอาหาร ที่ขยายกว้างออกตอนพ้นกระบังลม เข้ามาอยู่ภายในช่องท้องแล้ว อยู่ระหว่างหลอดอาหารและลำไส้เล็ก
กระเพาะอาหารของสัตว์แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1.กระเพาะเดี่ยว หรือกระเพาะแท้(True stomach)
2.กระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้อง (The ruminant stomach)
3.กระเพาะของสัตว์ปีก
1.กระเพาะแท้ อยู่ทางด้านซ้ายของกระบังลมเมื่อดูจากภายนอก จะเห็นว่ากระเพาะอาหารแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน คือ
1.1 Cardia ส่วนทางเปิดเข้าสู่กระเพาะอาหาร
1.2 Fundus
1.3 Body
1.4 Pylorus
2.กระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง กระเพาะชนิดนี้กินเนื้อที่ประมาณ 3ใน4ของช่องท้อง ค่อนมาทางซ้าย มีเป็นส่วนๆหรือ เป็นถุงดังนี้
2.1 Rumen
2.2 Reticulum
2.3 Omasum
2.4 Abomasum
กระเพาะอาหาร 3ถุงแรก เปรียบเสมือนหลอดอาหารที่พองตัวออก ให้อาหารผ่านและพักอาหารจะถูกทำให้เปียกชุ่ม แล้วถูกสัตว์สำรอกออกไปเคี้ยวใหม่ ให้ละเอียด กลืนกลับเข้าสู่กระเพาะใหม่ นอกจากนี้ยังมีพวกจุลินทรีย์อยู่ ช่วยย่อยอาหารอีกด้วย
Rumen เป็นถุงกล้ามเนื้อใหญ่ 2 ถุง มีเนื้อที่จากกระบังลม (Diaphragm)จนถึงกระดูกเชิงกราน และด้านซ้ายของช่องท้องทั้งหมด
Reticulum อยู่ตอนหน้าสุด ผนังด้านในเป็นรอยนูนขึ้นมา คล้ายรวงผึ้ง เป็นที่เก็บวัสดุแปลกปลอมที่ติดมากับอาหาร ถ้ามีตะปู เศษลวด หรือของแข็งเหลมอื่นๆที่สัตว์กลืนเข้าไป มันจะติดค้างอยู่ และทุกครั้งที่ผนังกระเพาะบีบตัว ของแหลมคมที่ตกค้างอยู่ จะทิ่มแทงผนังกระเพาะ จนทะลุเข้าไปถึงหัวใจได้
Omasum มีลักษณะเป็นถุงรีผิวในมีแผ่นกล้ามเนื้อยื่นออกมา เป็นใบๆ ซ้อนกันอยู่เต็ม ทำหน้าที่ช่วยบดอาหาร ให้ละเอียดข้นอีก ก่อนเข้าสู่ Abomasum
Abomasum เป็นถึงยาว อยู่ติดกับผนังท้องด้านล่าง เป็นกระเพาะแท้
กระเพาะอาหารของสัตว์ปีก ตอนแรกมีลักษณะเป็นท่อยาว ป่องกลาง เรียกว่า Proventriculus เป็นส่วนที่มีต่อม ผนังของส่วนนี้ขยายตัวออกได้ไม่มากนัก ส่วนที่ต่อไปเป็นกล้ามเนื้อหนา เยื่อบุหนาและเป็นสัน เรียกว่า Gizzardหรือ Ventriculus ภายในมีหินเล็กๆปนอยู่ด้วยเพื่อช่วยในการบดอาหาร เมื่ออาหารถูกย่อยแล้วจะผ่านออกสู่ลำไส้เล็ก
ลำไส้เล็ก (Small intestine)
ลำไส้เล็กแบ่งออกเป็น 3ตอน คือ
1.Duodenum เป็นส่วนต้นของลำไส้เล็ก อยู่ต่อจากกระเพาะอาหาร เป็นส่วนที่ตรึงอยู่กับที่ โดยมีตับอ่อน (Pancreas) ขนาบอยู่ที่ผิวด้านในของลำไส้เล็ก ท่อนนี้เป็นทางเปิดของท่อน้ำดีจากตับ และ ท่อนำน้ำย่อยอาหารจากตับ
2.Jejunum เป็นส่วนกลางของลำไส้เล็ก
3.Ileum เป็นส่วนท้ายของลำไส้
ลำไส้เคลื่อนไหวได้ โดยกล้ามเนื้อหดตัว และคลายตัวเป็นลูกคลื่น ไล่ตามกันไป การเคลื่อนไหวแบบนี้เรียกว่า Peristalsis โดยการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อนอกอำนาจจิตใจ มีผลช่วยให้
1.ขับอาหารในลำไส้ ให้เคลื่อนที่ ไปสู่ปลายทางเดินอาหาร
2.ผสมอาหารที่ผ่านมา ให้เข้ากับน้ำย่อยอาหารที่ได้จาก
2.1ผนังของลำไส้เล็ก ได้แก่ น้ำย่อยอาหารหลายชนิด
2.2ตับ หรือ น้ำดี
2.3ตับอ่อน ได้แก่ น้ำย่อยอาหารหลายชนิด
3.ช่วยให้อาหารผ่าน Villi ได้มาก ทำให้การย่อยอาหารเป็นไปได้นาน และการดูดซึมอาหารที่ถูกย่อยแล้ว เข้าสู่กระแสน้ำเหลืองได้มาก
4.ช่วยการหมุนเวียนโลหิตและน้ำเหลือง
ลำไส้ใหญ่(Large intestine) เป็นส่วนที่อยู่ต่อจาก Ileum ไปจนถึงท่ออุจจาระ(Rectum) และทวารหนัก(Anus)
ท่ออุจจาระ(Rectum) เป็นที่พักอุจจาระ อยู่ติดกับทางเปิดออก ของท่อทางเดินอาหาร ซึ่งเรียกว่ารูทวารหนัก(Anus) ทางเปิดออกนี้ของสัตว์ปีกเรียกว่า Cloaca ซึ่งเป็นทั้งที่ขับของเสียทิ้งและทางสืบพันธุ์
อวัยวะช่วยย่อยอาหาร
1.ต่อมน้ำลาย(Salivary glands) เป็นต่อมที่ผลิตสิ่งขับหลั่ง มีลักษณะเป็นน้ำใสๆ และมีน้ำย่อยแป้งด้วย ต่อมน้ำลายขนาดใหญ่มี 3 คู่ คือ
1.1Parotid glands
1.2Mandibular glands
1.3Sublingual glands
2.ตับอ่อน (Pancreas) เป็นต่อมไร้ท่อ และต่อมมีท่อ ส่วนที่เป็นต่อมไร้ท่อ ผลิตฮอร์โมน Insulin ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการใช้น้ำตาลของร่างกาย ส่วนที่เป็นต่อมมีท่อ จะผลิตน้ำย่อยอาหาร เรียกว่า Pancreatic juice
เนื้อเยื่อของตับอ่อน ส่วนหนึ่งเป็นต่อมตัน เรียกว่า Islets of Langerhans ผลิต Insulin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในโลหิต ถ้า Insulin น้อยไป น้ำตาลในโลหิตจะสูงขึ้น
3.ตับ (Liver) เป็นต่อมที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย อยู่ใต้กระบังลมทางด้านหลังของลำตัว มีหน้าที่ดังนี้คือ
3.1หน้าที่เกี่ยวกับโลหิต
3.1.1เก็บโลหิตจำนวนมาก เพื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
3.1.2ทำลายเม็ดโลหิตแดง ที่หมดอายุ หรือผิดปกติ
3.1.3แยกเอาสารพิษอกจากโลหิต
3.1.4สร้าง Prothrombin
3.1.5สร้างFibrinogen
3.1.6สะสมธาตุเหล็ก
3.2หน้าที่เกี่ยวกับการผลิตน้ำดี เข้าสู่ทางเดินอาหาร โดยน้ำดีมีหน้าที่
3.2.1เร่งปฏิกิริยาของ Pancreatic lipase
3.2.2ช่วยให้อาหารชนิดไขมัน แตกตัว
3.2.3เพื่อการละลายไขมัน
3.2.4ทำลายกรดไขมัน
น้ำดีที่เกิดขึ้นในตับนี้ จะเก็บไว้ในถุงน้ำดี และมีท่อน้ำดีมาเปิดที่ตอนต้นของลำไส้เล็กส่วน Duodenum ในสัตว์ประเภทม้า จะไม่มีถุงน้ำดี แต่จะมีเป็นHepatic ducts นำน้ำดีมาเปิดเข้าสู่ลำไส้เล็ก
3.3หน้าที่เกี่ยวกับการย่อยและการใช้อาหาร ให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
3.3.1สร้างและสะสมแป้ง Glycogen
3.3.2กำหนดการเกิด และการใช้Blood glucose
2.ระบบหายใจ
ระบบหายใจ (Respiratory system) มีหน้าที่สำคัญคือ นำออกซิเจนไปแลกเปลี่ยนกับคาร์บอนไดออกไซด์จากเม็ดเลือดแดง ที่ถุงลม (Alveoli) ของปอด แล้วขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกนอกร่างกาย หน้าที่รองลงมาคือ การควบคุมอุณหภูมิ การขจัดน้ำออกจากร่างกาย และยังมีกล่องเสียงซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำให้เกิดเสียงด้วย
การหายใจ ( Respiration ) หมายถึงการแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างอวัยวะกับสิ่งแวดล้อม การแลกเปลี่ยนที่สำคัญคือการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยที่เนื้อเยื่อของร่างกายต้องการออกซิเจนจากภายนอก เพื่อใช้ในการทำงาน( Oxidative metabolism) ต่างๆของร่างกาย ส่วนคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นผลผลิตสุดท้าย( End product)ที่เกิดจากขบวนการทำงานของร่างกาย ซึ่งจะต้องถูกขับออกมาภายนอกร่างกาย ฉะนั้นการที่ร่างกายจะดำรงชีวิตอยู่ได้ จะต้องขึ้นอยู่กับการรักษาระดับความเข้มข้น และปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจนในเนื้อเยื่อ
การหายใจแบ่งได้เป็น 2 ตอนใหญ่ๆ คือ
1.External respiration เป็นการหายใจภายนอก ซึ่งเป็นการทำงานของปอด การแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างปอดกับเลือด และการขนส่งอากาศเหล่านี้โดยกระแสเลือดไปยังเซลล์
2.Internal respiration เป็นการหายใจของเซลล์ที่แท้จริง เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีของก๊าซออกซิเจนกับอาหารภายในเซลล์ ผลที่ได้คือพลังงาน บางครั้งเราเรียกการหายใจของเซลล์แบบนี้ว่า Cellular respiration
การนำอากาศเข้า ออกจากปอดนั้น เราไม่เรียกว่า การหายใจ แม้ว่ามันจะเป็นองค์ประกอบที่ช่วยในการนำออกซิเจน จากภายนอกมายังเนื้อเยื่อก็ตาม เราเรียกขบวนการนี้ว่า Ventilation
อวัยวะที่เกี่ยวกับการหายใจ ( Respiration apparatus) ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประกอบด้วย
1.ท่อทางเดินอากาศสู่ปอด(Air passage) มีเป็นส่วนๆดังนี้ ช่องจมูก (Nasal cavity) , ช่องคอ (Pharynx ) , กล่องเสียง (Larynx ) และหลอดลม (Trachea )
2.ปอด ( Lungs)
3.ทรวงอกและเยื่อหุ้มปอด ( Thorax และ Pleural sac )
4.กระบังลมและกล้ามเนื้อช่องอก ( Diaphragm และ Muscle of thorax )
5.เส้นประสาท ( Afferent และ efferent nerves) ที่มาเลี้ยงอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ
ท่อทางเดินอากาศสู่ปอด (Air passage ) เริ่มต้นจากช่องจมูก( Nasal cavity) ซึ่งทำหน้าที่เป็นช่องทางให้อากาศผ่านเข้า ออก สู่ช่องคอ (Pharynx )ด้านใน ก่อนผ่านช่องคอหอย ( Epigottis) กล่องเสียง ( Larynx) เข้าสู่หลอดลม (Trachea)และหลอดลมย่อย (Bronchi) อวัยวะเหล่านี้จะช่วยกันทำหน้าที่นำอากาศเข้าสู่ปอด
ผนังภายในช่องจมูก บุด้วยเยื่อจมูก ซึ่งมีเส้นโลหิตกระจายอยู่มากมาย ทำให้ลมหายใจ เข้าอบอุ่น
ช่องคอ (Pharynx ) เป็นทางผ่านร่วมกันของอากาศและอาหาร โดยอากาศจะผ่านช่องคอหอย (Epigottis ) เข้าสู่หลอดลม (Trachea ) ส่วนอาหารจะผ่านช่องหลอดอาหาร ลงสู่กระเพาะ นอกจากนี้ยังมีท่อจากหู เรียกว่า Eutachian tube จากหูตอนกลาง มาเปิดเข้าช่องคออีกด้วย
กล่องเสียง (Larynx ) เป็นส่วนที่คอยควบคุมปริมาณอากาศที่เข้าออกจากปอด ป้องกันมิให้มีสิ่งแปลกปลอมผ่านเข้าไปในหลอดลมและเป็นอวัยวะหลักที่ทำให้เกิดเสียง โดยมีกระดูกอ่อน 2 ชิ้นทำหน้าที่เหมือนด่านที่ช่วยให้ เส้นเสียง (Vocal cords ) แน่นเข้าหรือหลวมลง นอกจากนี้ยังมี กระดูกอ่อยรูปวงแหวน อีก 1 อัน ที่ช่วยให้กล่องเสียงคงรูปอยู่ เป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อ
หลอดลม (Trachea) อยู่ต่อมาจากกล่องเสียง เป็นท่อที่ประกอบด้วยกระดูกอ่อนวงแหวนหลายๆอันเรียงต่อกัน ภายในเป็นเยื่อบุมีต่อมเมือก ( Mucous Gland) และชั้น Epithelium มีCilia สิ่งขับถ่ายออกมาจากต่อมเมือกและขนนี้จะช่วยป้องกันมิให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด
หลอดลมยาวไปถึงฐานของหัวใจ แล้วแยกออกเป็นหลอดลมเล็ก( Bronchi) 2 อัน แต่ละอันจะแยกเข้าสู่ปอดแต่ละข้างซ้าย ขวา อยู่ภายในช่องอกโดยมีหน้าที่และลักษณะเหมือน Trachea
หลอดลม Bronchi แต่ละข้างที่แยกเข้าไปในปอดจะแยกแขนงออกเป็น ท่อลมเล็กๆลงไปอีก เรียกว่า Bronchioles และไปสิ้นสุดที่ถุงลม (Alveoli ) ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายและเล็กที่สุดของท่อทางเดินอากาศและเป็นที่ ที่มีการแลกเปลี่ยนอากาศ โดย หลอดโลหิตฝอย (Capillaries) ซึ่งแตกแขนงมาจากหลอดโลหิต จะแพร่กระจายอยู่ตามผนังของถุงลมเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน อ๊อกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่จับตัวมากับเม็ดโลหิตในหลอดเลือดฝอยเหล่านี้ จากการหายใจเข้า ออกผ่านท่อทางเดินอากาศนี้เอง
ช่องอก ( Thoracic cavity) มีปอดและหัวใจบรรจุอยู่ ช่องอกนี้ไม่มีการติดต่อกับภายนอก และแยกออกจากช่องท้องโดยกะบังลม ( Diaphragm)
ปอด (Lungs )ปอดเป็นอวัยวะที่ใช้ในการหายใจแลกเปลี่ยนอากาศ มีลักษณะเป็นเยื่อถุงที่ยืดหยุ่นได้ ตั้งอยู่ในช่องอก ปอดมีเยื่อหุ้มปอด สองชั้นเป็นพวก Serous membrane เยื่อหุ้มปอดชั้นนอกเรียกว่า Parietal pleura เยื่อหุ้มปอดชั้นในเรียกว่า Visceral pleural ระหว่างเยื่อหุ้มทั้งสองชั้นนี้ เรียกว่า Pleural cavity ในช่องว่างนี้ มีของเหลวใสๆบรรจุอยู่ ของเหลวนี้ทำหน้าที่ให้ระหว่างชั้นของเยื่อหุ้มทั้งสองชุ่มชื้น และไม่เสียดสีกัน ความดันในช่องว่างนี้เป็น negative pressure เนื่องจาก Pleura ทั้งสอง พยายามแยกตัวออกจากกัน จึงทำให้ช่องว่างระหว่างชั้นทั้งสองมีความดันต่ำกว่าบรรยากาศ เมื่อมีอะไรมาทำให้ความดันในเยื่อหุ้มปอดสูงกว่าบรรยากาศ ปอดจะแยกออกจากทรวงอก ทำให้ปอดเกิด Collapse ได้
นอกจากอวัยวะที่กล่าวมาแล้ว ในการหายใจยังมีกล้ามเนื้ออีกหลายชนิดที่เกี่ยวข้องหรือช่วยในการหายใจ กล้ามเนื้อเหล่านี้ได้แก่ กล้ามเนื้อกะบังลม , External และ Internal intercostals รวมทั้ง Abdominal muscleด้วย
อัตราการหายใจ( Respiratory rate )ของสัตว์ หมายถึงจำนวนการหายใจเข้า และหายใจออกในครั้งหนึ่งต่อหน่วยเวลา หรือจำนวนวงรอบการหายใจ (Respiratory cycle) ในหนึ่งหน่วยเวลา
อัตราการหายใจของสัตว์อาจเปลี่ยนแปลงได้ตาม ขนาดของตัว , อายุ , การออกกำลังกาย , ความตื่นเต้น ,อุณหภูมิ , สิ่งแวดล้อม ,และภาวะการเป็นโรคเช่น เป็นไข้ ความเจ็บปวด การอักเสบ การติดเชื้อ เป็นต้น
อัตราการหายใจ (Respiratory rate )ปกติ
ม้า มีอัตราการหายใจ 8-16 ครั้ง/นาที
โคเนื้อ มีอัตราการหายใจ 10-30 ครั้ง/นาที
โคนม มีอัตราการหายใจ 18-28 ครั้ง/นาที
แพะ แกะ มีอัตราการหายใจ12-20ครั้ง/นาที
สุกร มีอัตราการหายใจ 8-18 ครั้ง/นาที
สุนัข มีอัตราการหายใจ 10-30 ครั้ง/นาที
แมว มีอัตราการหายใจ 20-30 ครั้ง/นาที
สัตว์ปีกมีอัตราการหายใจ 15-30 ครั้ง/นาที
คน มีอัตราการหายใจ 12-20 ครั้ง/นาที


3.ระบบขับปัสสาวะ
ระบบขับปัสสาวะ (Urinary system หรือ Excretory system )ระบบนี้จะประกอบด้วย 1.ไต (Kidney)2 อัน
2. สายไต (Ureter) 2 สาย
3.กระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder)
4.ท่อปัสสาวะ (Urethra)
ไต (Kidney)
ไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ กรองเอาน้ำและของเสียออก(Secrete waste product)จากโลหิต และยังทำหน้าที่รักษาสมดุลย์ของแร่ธาตุ( Balance electrolyte)เช่นรักษาสมดุลย์ของกรดและด่าง(Acid and base balance)
ปริมาณโลหิตทั้งหมดจากกระแสโลหิตจะผ่านไตทุกๆ 5นาที
ไตเป็นอวัยวะที่เป็นคู่ อยู่ในช่องท้องติดกับส่วนท้ายของผนังช่องท้องด้านบน มีลักษณะเป็นรูปทรงคล้ายเม็ดถั่ว มีเยื่อ(Capsule)หุ้มชั้นนอก ตรงขั้วเว้าช่วงกลางไต เรียกว่า Hilus ซึ่งเป็นทางเข้าออกของ เส้นเลือด เส้นประสาท เส้นน้ำเหลือง และสายไต (Ureter)
เนื้อเยื่อของไตแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นนอก เรียกว่า Renal cortex มีสีนํ้าตาลแดง ชั้นใน เรียกว่า Renal medulla ในเนื้อไตจะประกอบด้วย Nephronจำนวนมากมายภายในท่อไตเล็กๆ(Uriniferous tubules)จะทำหน้าที่เป็นตัวกรองและขับปัสสาวะสู่กรวยไต(Pelvis) แล้วผ่านออกทางสายไต(Ureter) เข้าเก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder) ก่อนขับออกนอกร่างกายทางท่อปัสสาวะ (Uretha)ต่อไป
สายไต(Ureter)เป็นท่อกล้ามเนื้อ(Muscular tube) จากกรวยไต(Pelvis) ไปสิ้นสุดที่กระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder) นำน้ำปัสสาวะที่กรองได้จากไตไปยังกระเพาะปัสสาวะ
กระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder) เป็นถุงกล้ามเนื้อกรวง สำหรับเก็บปัสสาวะ ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะจะคล้ายกับของสายไตแต่หนากว่า ขนาดเปลี่ยนไปตามปริมาณของน้ำปัสสาวะที่ยังอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ คอของกระเพาะปัสสาวะ(Neck of bladder)จะอยู่ติดต่อไปกับท่อปัสสาวะ(Urethra) กล้ามเนื้อตรงคอกระเพาะปัสสาวะนี้เป็นกล้ามเนื้อหูรูด(Sphinctor) คอยควบคุมการไหลออกของน้ำปัสสาวะ
ท่อปัสสาวะ(Urethra)เป็นท่อต่อจากกระเพาะปัสสาวะ ผ่านช่องเชิงกรานตอนล่างมาสู่ช่องทางออก(Urethral orifice)ที่อวัยวะเพศของสัตว์

4.ระบบอวัยวะสืบพันธุ์
ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์
อวัยวะสืบพันธุ์ทำหน้าที่ ผลิตเซลล์สืบพันธุ์ และฮอร์โมนเพศ อวัยวะสืบพันธุ์ ของสัตว์เพศเมีย ประกอบด้วย รังไข่ ( Ovary ) , ท่อนำไข่ ( Oviducts) , มดลูก ( Uterus) , ช่องคลอด ( Vagina ) , ปากช่องคลอด ( Vulva) และ อวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์เพศผู้ ประกอบด้วย อัณฑะ ( Testes ) , ท่อเก็บน้ำเชื้อ ( Epididymis) , ท่อนำน้ำเชื้อ ( Vas deference ) , ต่อมเพศผู้ชนิด ได้แก่ Ampulla , Vesicula , Prostate ,Bulbo urethral gland และท่อหลั่งน้ำเชื้อ( Urethra ) และลึงค์ ( Penis)
ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์เพศเมีย มีหน้าที่โดยทั่วๆไปคือ การผลิตไข่ ( Ovum) ,การเคลื่อนที่ของไข่และสเปอร์มเพื่อการผสมพันธุ์ ( Fertilization) ,การเลี้ยงลูกอ่อนในครรภ์ให้เจริญเติบโต , การคลอดลูก และการผลิตฮอร์โมนเพศ
ก.รังไข่ (Ovaries) รังไข่ทำหน้าที่เป็นอวัยวะสร้างฮอร์โมน เอสโตรเจน ( Estrogen)และโปรเจสเตอโรน ( Progesterone) และหน้าที่สำคัญคือมีการสร้าง ไข่ (Ovum ) อยู่ในถุงไข่ (Follicle) เมื่อถุงไข่แก่ หรือสุก( Mature follicle ) ถุงไข่จะแตก( Ovulation) ทำให้ไข่ (Ovum ) ตกลงสู่ท่อนำไข่ (Oviduct หรือFallopian tube) ซึ่งเป็นที่เกิดการปฏิสนธิ ( Fertilization ) กับเชื้อตัวผู้ ( Spermatozoa ) ขึ้น และไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว (Fertilized egg )จะเคลื่อนที่ไปฝังตัวที่ผนังของปีกมดลูก เจริญเป็น คัพภะ (Embryo) และเจริญเป็นลูกอ่อนในครรภ์ (Fetus ) ต่อไป
ฮอร์โมนที่รังไข่ผลิต ได้แก่
1. Estrogen ทำหน้าที่เร่งให้อวัยวะสืบพันธุ์ ของตัวเมียเจริญ และมีอาการสัด
2. Progesterone เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจาก Corpus luteumทำหน้าที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และการให้นม
ข ท่อนำไข่ ( Oviduct หรือ Uterine tube) ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของไข่และสเปอร์มที่เคลื่อนที่มาพบกันและเกิดการผสมพันธุ์ ( Fertilization)อีกด้วย
ค มดลูก ( Uterus) นอกจากจะทำหน้าที่ส่งผ่านสเปอร์มแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นที่ให้คัพภะ ( Embryo )และลูกอ่อน ( Fetus) เจริญเติบโตอยู่ในครรภ์จนกระทั่งถึงกำหนดคลอด( Parturition)
ชนิดของมดลูก(Form of uterus) ขึ้นกับชนิดของสัตว์ แบ่งได้เป็นแบบคือ
-Duplex ทั้งมดลูกและช่องคลอดเป็น สองส่วน พบในสัตว์พวก Lagomorpha, Marsupialsและ Monotremes
-Bipartite มดลูกแยกเป็นสองส่วน แต่ช่องคลอดเป็นส่วนเดียวกัน พบในสัตว์พวกหนู ( Rodents)
-Bicornuate มดลูกมีปีกมดลูกสองข้าง พบในสัตว์ทั่วๆไปเช่นสุนัข สุกร ม้า และสัตว์เคี้ยวเอื้อง
-Simplex มดลูกไม่มีปีกมดลูกและช่องคลอด เป็นชนิดธรรมดา พบในคน( Primates)
โครงสร้างของมดลูก มีผนังมดลูกแบ่งเป็น สามชั้น
-ชั้นใน Endometrium
-ชั้นกลาง Myometrium
-ชั้นนอก Perimetrium
ชั้นของ Endometrium มีการเปลี่ยนแปลงตามระยะ วงรอบการเป็นสัด ( Estrous cycle)
วงรอบการเป็นสัด ( Estrous cycle) โดยทั่วไป แบ่งได้เป็น สี่ ระยะ
Proestrus เป็นระยะที่ถุงไข่ ( Follicle) กำลังเจริญเติบโต
Estrus ถุงไข่เจริญเติบโตเต็มที่ (Mature follicle) มีระดับฮอร์โมน Estrogen สูงสุด แสดงอาการสัด และมีการตกไข่( Ovulation)
Metestrus เกิดCorpus luteum ซึ่งเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมน Progesterone ออกมาเพื่อดำรงการตั้งครรภ์ให้คงอยู่หลังมีการปฏิสนธิขึ้น
Diestrus เกิดการสลายตัวของ Corpus luteum หยุดการสร้างProgesterone
ปากมดลูก ( Cervix) เป็นส่วนปลายของมดลูกที่หนาขึ้นและติดต่อกับช่องคลอด(Vagina)และเปิดออกภายนอกทางปากช่องคลอด( Vulva)
ฮอร์โมนเพศเมีย ที่สำคัญมี 2 ชนิด ได้แก่
1.Estrogen ฮอร์โมนนี้สร้างจากถุงไข่(Follicle)ที่เจริญของรังไข่ทำหน้าที่ช่วยในการเจริญเติบโตของอวัยวะเพศรวมทั้งเนื้อเยื่ออื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ การขยายตัวของเซลในร่างกาย และการพัฒนาการแสดงลักษณะเพศเมีย
2.Progesterone ฮอร์โมนนี้สร้างจากCorpus luteumของรังไข่หลังจากที่เกิดการตกไข่(Ovulation)แล้ว และในระยะตั้งท้องจะสร้างจาก รก( Placenta) ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมากกว่าปกติถึง 10เท่า ฮอร์โมนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องในการเตรียมมดลูกสำหรับระยะตั้งท้อง และเตรียมเต้านมสำหรับให้นม
นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนเพศเมียอีกตัวหนึ่งที่ไม่ใช่สารพวกสเตอรอยด์ ได้แก่ฮอร์โมน Relaxin ซึ่งสร้างมาจากรังไข่ ทำหน้าที่ช่วยให้เอ็นยึดเชิงกราน( Pelvic ligament)คลายตัว ขยายช่องเชิงกรานและช่องคลอดในช่วงที่เกิดการคลอด
ระบบอวัยวะของสัตว์เพศผู้
ก. อัณฑะ (Testes)อยู่บริเวณหน้าเชิงกรานระหว่างขาหนีบ หุ้มด้วยถุงอัณฑะ( Scrotum) ภายในอัณฑะมีท่อSeminiferous tubulesเล็กๆมากมาย ผนังท่อด้านในจะมีเซล Sertoli cells ทำหน้าที่สร้างอาหารเลี้ยงเซลและเซลอ่อนของสเปอร์มซึ่งจะเจริญเป็นตัวเชื้ออสุจิ (Spermatozoa) และยังมีเซล Laydig cells ทำหน้าที่สร้าง ฮอร์โมน Testosterone ทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างสเปอร์มและ ทำให้เกิดลักษณะประจำเพศ
ข. ท่อเก็บน้ำเชื้อ( Epididymis)เป็นท่อยาวรูปตัว ยู อยู่เหนืออัณฑะ ส่วนท้ายจะเป็นกระเปาะสำหรับเก็บสะสม สเปอร์มได้มากและสร้างของเหลวมาผสมกับสเปอร์มให้มีการเจริญเต็มวัย รูปร่างสมบูรณ์ สะสมพลังงานเพียงพอ เพื่อใช้เคลื่อนตัวไปปฏิสนธิหลังการหลั่งน้ำเชื้อ
ค. ท่อนำน้ำเชื้อ( Vas deferens) เป็นท่อกล้ามเนื้อมีหน้าที่ส่งผ่านสเปอร์มที่โตเต็มวัย จากท่อเก็บน้ำเชื้อ( Epididymis)สู่ท่อหลั่งน้ำเชื้อ( Urethra)
ง. ต่อมเพศผู้( Accessory sex glands) ทำหน้าที่สร้างของเหลวส่วนใหญ่มาผสมกับสเปอร์มในขณะหลั่งน้ำเชื้อ ซึ่งของเหลวที่ผลิตนี้จะทำให้เกิดการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของสเปอร์ม ( Sperm motility) ,เป็นแหล่งพลังงานและปกป้องสเปอร์มจากสารที่เป็นพิษต่อสเปอร์ม ประกอบด้วยต่อมเพศผู้ 4 ชุดคือ
1.Ampulla gland ทำหน้าที่ผลิตของเหลว(Seminal fluid)ผสมกับสเปอร์ม
2.Vasicular glandsทำหน้าที่ผลิตของเหลว( Seminal fluid) ส่วนใหญ่ ที่มีในน้ำเชื้อ(Semen)
3.Prostate gland ทำหน้าที่สร้างของเหลวที่มีฤทธิ์ป็นด่างสำหรับลดความเป็นกรดของของเหลวจากท่อเก็บน้ำเชื้อ (Epididymal fluid)ซึ่งมีผลทำให้สเปอร์มเกิดการเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่เพื่อไปปฏิสนธิที่ท่อนำไข่( Oviduct )
4.Bulbo urethral glandของเหลวสำหรับล้าง ทำความสะอาดท่อหลั่งน้ำเชื้อ( Urethra) ก่อนหลั่งนำเชื้อจริง

จ. ท่อหลั่งน้ำเชื้อ( Urethra) และ ลึงค์ (Penis) เป็นอวัยวะที่ใช้ผสมพันธุ์ของม้าเพศผู้ มีลักษณะกลมยาวอยู่ระหว่างต้นขาใต้ท้อง จะยื่นยาวและแข็งตัวจากการคลั่งของเลือดในลึงค์จนแข็งตัวสามารถผสมพันธุ์กับเพศเมียที่เป็นสัดอยู่ได้ เกิดการกระตุ้นทางระบบประสาททำให้เกิดการขับดันน้ำเชื้อเข้าสู่ท่อหลั่ง( Urethra) แล้วผ่านออกทางUrethral orifice เข้าไปสู่ช่องคลอดและมดลูกของสัตว์เพศเมียต่อไป



5.ระบบต่อมไร้ท่อ
ต่อมไร้ท่อ(Endocrine gland) ทำหน้าที่ผลิตสารเคมีที่เรียกว่า ฮอร์โมน (hormone) ออกมาโดยตรง หรือออกมา ผ่านท่อน้ำเหลืองเข้าสู่กระแสโลหิต แล้วไปสู่อวัยวะที่ฮอร์โมนนั้นๆควบคุมอยู่ เรียกว่าอวัยวะเป้าหมาย(Target organ)
1.ต่อมไธรอยด์(Thyroid gland)
ต่อมไธรอยด์ มี2ก้อน อยู่ใกล้กระดูกอ่อน(Thyroid cartilage)ของกล่องเสียง และอยู่ข้างกล่องเสียงข้างละ 1ก้อน ต่อมไธรอยด์ผลิตฮอร์โมนชื่อ Thyroxin ซึ่งมีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญ
Thyroxin มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย ถ้าขาดไอโอดีนในสัตว์อายุน้อย สัตว์จะแคระแกรน ส่วนในสัตว์อายุมากจะทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงอาหารให้เป็นพลังงานจะลดลง มีอาการหลับใน ขนร่วง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเป็นต้น การขาดไอโอดีน จะทำให้เกิดอาการคอหอยพอก(Goitor)
2.ต่อมพาราไธรอยด์ (Parathyroid gland)
ต่อมพาราไธรอยด์ เป็นเล็กๆอยู่ในหรือใกล้กับต่อมไธรอยด์ มีข้างละ 2 ต่อม ฮอร์โมนที่ต่อมนี้ผลิต เรียกว่า ParaThormone มีหน้าที่ ช่วยให้ระดับแคลเซี่ยมในโลหิตคงที่อยู่เสมอ ถ้าตัดต่อมพาราไธรอยด์ ออกจะทำให้ ระดับแคลเซี่ยมในโลหิตและในปัสสาวะน้อยลง และเกิดอาการชักกระตุก
3.ต่อมปิตุอิตารี( Pituitary Gland) เป็นต่อมเล็กขนาดปลายนิ้วอยู่ภายใต้สมอง ผลิต
Growth hormone ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย
Thyrotropic hormone ควบคุมการทำงานของต่อมไธรอยด์
Adrenocorticotrophic hormone จะไปกระตุ้นให้ ต่อมหมวกไต(Adrenal cortex ) ทำหน้าที่ในการผลิต พวก Steroid และรวมทั้งฮอร์โมนทางเพศด้วย
Gonadotrophic hormone ควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์
Antidiuretic hormone หรือเรียกว่า Vasopressin มีหน้าที่ควบคุมการขับปัสสาวะ และการดูดน้ำบางส่วนกลับ ถ้าขาดฮอร์โมนชนิดนี้ สัตว์จะถ่ายปัสสาวะมาก
Oxytocin ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกในระหว่างการคลอด ฮอร์โมนนี้จะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดตัว เพื่อการขับให้ลูกอ่อนออกมาสู่ภายนอก
4.ต่อม อะดรีนัล (Adrenal gland)
ต่อมอะดรีนัล เป็นต่อมเล็กๆอยู่ข้างไต เนื้อเยื่อของต่อมนี้มี 2 ชั้น คือ ชั้นนอก Cortex และชั้นใน Medulla สารที่เนื้อเยื่อชั้นนอกของต่อมผลิต ได้แก่ พวก Steroids และฮอร์โมนที่ไปควบคุมการใช้ Glycogen จะผลิตฮอล์โมนออกมา 2 ชนิด คือ Epinephrine และ Norepinephrine
ผลของ Epinephrine ( adrenalin) ต่อร่างกาย
1.ทำให้ความดันโลหิตสูง ทำให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดหดตัว
2.ไปเร่งให้ตับเปลี่ยนแป้ง Glycogen ให้เป็นน้ำตาล
3.ทำให้เหงื่อออกมาก น้ำลายข้น
4.ขยายม่านตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น